วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม และศูนย์ศึกษาและพัฒนาสังคม (SE Center) มหาวิทยาลัยรังสิต มูลนิธิสัมมาชีพ ร่วมกับเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย (Global Compact Network Thailand : GCNT) จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “Social Enterprise ( SE ) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย” เพื่อสร้างความตระหนักรู้และสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการระดมความคิดเห็นต่อการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ตามแนวทางของการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs ) ทั้ง 17 ประการ ณ ห้องออดิทอเรียม อาคาร 15 มหาวิทยาลัยรังสิต โดย รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวเปิดงาน
ทั้งนี้ ในช่วงเช้ามีผู้นำทางความคิด ทั้งภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และภาคการศึกษา มาระดมสมองกัน เพื่อหาทางออกในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย โดยใช้โมเดล Social Enterprise (SE) ซึ่งภาคเอกชนมี นายปรีดา เตียสุวรรณ์ ประธานกรรมการบริษัท แพรนด้าจิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) อภิปรายในประเด็น “บทเรียนประสบการณ์และข้อเสนอธุรกิจเพื่อสังคม” นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธาน เครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย อภิปรายในประเด็น “Social Enterprise ทางรอดสังคมไทยจริงหรือและบทบาทของภาคธุรกิจในการ ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม” และภาคประชาสังคม โดยนายบรรจง นะแส ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ( กป.พอช.) นำเสนอมุมมองในประเด็น “ความคาดหวังภาคประชาสังคมต่อภาคธุรกิจในศตวรรษใหม่” พร้อมด้วยมุมมองของนักวิชาการ รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ในประเด็น “จาก CSR สู่ SE มุมมองจากเศรษฐศาสตร์การเมือง” โดยมี ดร.สุริยะใส กตะศิลา รองคณบดี วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นผู้ดำเนินรายการ
จากนั้นในช่วงบ่าย มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มย่อยได้แก่ กลุ่มที่ 1 แลกเปลี่ยนประสบการณ์และตัวอย่างความสำเร็จของ SE ระดับชุมชน มีตัวแทนจาก 3 ชุมชนเข้าร่วมได้แก่ ชุมชนทอผ้าบ้านนาต้นจั่น จังหวัดสุโขทัย ชุมชนศูนย์ชาวบ้านอุ่มแสง จังหวัดศรีสะเกษ และชุมชนกลุ่มออมทรัพย์ เพื่อการผลิตบ้านดอนคา จังหวัดนครศรีธรรมราช กลุ่มที่ 2 เป็นกรณีศึกษาและเปรียบเทียบตัวอย่าง SE ของประเทศไทยและต่างประเทศ และกลุ่มที่ 3 เกี่ยวกับบทบาทประชารัฐกับยุทธศาสตร์การพัฒนา SE
ในงานสัมมนา “Social Enterprise ( SE ) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย” มีผู้เข้าร่วมงานมาจากหลายภาคส่วน ซึ่งรวมไปด้วยชาวบ้านในรัฐวิสาหกิจชุมชนที่ประสบความสำเร็จ ชาวบ้านที่อยู่ระหว่างการดำเนินการทำรัฐวิสาหกิจชุมชน นักศึกษาที่เรียนเกี่ยวกับการพัฒนาสังคมทั้งในระดับปริญญาตรี โทและเอก และภาคประชาสังคม รวมทั้งสิ้นประมาณ 300 คน