นายอภัยชนม์ วัชรสินธุ์ รองกรรมการผู้จัดการ ด้านประสานกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์มีความจริงใจต่อการแก้ปัญหาการบุกรุกทำลายป่า รวมถึงการถดถอยของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และในฐานะเป็นองค์กรเอกชนที่มุ่งมั่นในแนวทางสู่ความยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย 3 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ความรับผิดชอบต่อสังคม และให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม เครือเจริญโภคภัณฑ์จึงพร้อมที่จะก้าวเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการบุกป่า และหมอกควันไฟป่า ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อแก้ไขทุกบริบทของปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้ในการดำเนินธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ทำระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรธรรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และเพื่อให้แน่ใจได้ว่าการประกอบธุรกิจจะต้องตั้งอยู่บนฐานของความยั่งยืน ทั้งนี้เครือเจริญโภคภัณฑ์อยู่ระหว่างการศึกษาหาพืชทางเลือกเข้ามาทดแทนเพื่อลดปริมาณพื้นที่การทำเกษตรในพื้นที่ป่าและภูเขา ซึ่งมีความท้าทายอย่างมากทั้งในด้านความเหมาะสมของพื้นที่ซึ่งจะต้องสามารถปลูกได้ผลผลิตที่ดี และมีตลาดมารองรับ
นอกจากนี้ในช่วงเดือชนกุมภาพันธ์ - ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ร่วมกับ 7 จังหวัดในภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ น่าน เชียงราย พะเยา ลำปาง ลำพูน และจังหวัดตาก พร้อมหน่วยงานราชการ สถานศึกษาในจังหวัดภาคเหนือ รวมถึงภาคเอกชน จัดกิจกรรมและคอนเสิร์ต “คนไทยรักษ์ หวงแหนป่า” เพื่อร่วมกันรณรงค์และปลุกจิตสำนึกให้คนไทยรักและหวงแหนป่าไม้ รวมถึงแก้ปัญหาหมอกควัน ไฟป่า
ทางด้าน นายจอมกิตติ ศิริกุล ผู้บริหารโครงการพิเศษเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่านอกเหนือจากกิจกรรมรณรงค์ผ่านคอนเสิร์ตวงคาราบาว ตามโครงการ "คนไทยรักษ์ หวงแหนป่า" แล้ว ก่อนหน้านี้ที่จังหวัดน่านเครือเจริญโภคภัณฑ์ยังดำเนินโครงการ “ธรรมชาติปลอดภัย” ร่วมกับภาคประชาสังคมและหน่วยงานราชการในพื้นที่ เพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ในพื้นที่อำเภอเชียงกลางและอำเภอสันติสุข และล่าสุดเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บมจ.สยามแม็คโคร ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลง" โครงการเชื่อมโยงสินค้าเกษตรปลอดภัยจังหวัดน่าน" สนับสนุนแนวคิดของนายสุวัฒน์ พรมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ที่ใช้หลักของการพาณิชย์นำการเกษตร แก้ปัญหาป่าหัวโล้น โดยเป็นแม็คโคร จังหวัดน่าน จะส่งเสริมและรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรจากเกษตรกร หากเกษตรกรกลุ่มใดมีความเข้มแข็ง ผลิตพืชผักคุณภาพดีก็จะรับมายังส่วนกลางเพื่อกระจายผลผลิตไปยังสาขาต่าง ๆ ทั่วประเทศ ส่วนอีกโครงการหนึ่งคือการส่งเสริมด้านอาชีพให้กับเกษตรกร รวมทั้งการทำแปลงวิจัยพืชเศรษฐกิจ เพื่อทดแทนการปลูกข้าวโพดบนดอย ปัจจุบันมีแปลงทดลองอยู่ที่บ้านสบขุ่น อำเภอท่าวังผา ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ
"ในจังหวัดน่านมีแกนนำ มีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง ก่อนหน้านี้ทางเครือก็ร่วมกับมูลนิธิฮักเมืองน่าน ซึ่งได้ขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ การฟื้นฟูป่า การคืนพื้นที่ป่าในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การขุดนาแลกป่า โดยหลัก ๆ เราจะเข้าไปเสริมการพัฒนาภาคประชาสังคม แกนนำต่างๆ ส่วนของเราจะหาพืชทางเลือก อาชีพทางเลือกไปเสนอให้แก่เกษตรกรเพื่อลดพื้นที่การปลูกข้าวโพด"
นอกจากนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ยังสนับสนุนงบประมาณแก่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมตามแผนงานการแก้ไขปัญหาหมอกควันจ.เชียงใหม่อย่างยั่งยืน ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าลดจำนวนจุดความร้อน (Hotspot) ลงอย่างน้อยร้อยละ 20 จาก จำนวน Hotspot 2,381 จุด ในปี 2558 และควบคุมค่าฝุ่นละออง (PM10) ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ตลอดจนต้องไม่เกิดเหตุการณ์ยกเลิกเที่ยวบินที่สนามบินเชียงใหม่เช่นปีที่ผ่านมา
กิจกรรมการแก้ไขปัญหาหมอกควัน จ.เชียงใหม่อย่างยั่งยืน มีระยะเวลาดำเนินการระหว่างวันที่ 1 ธ.ค 2558 ถึง 30 เม.ย. 2559 รวม 20 สัปดาห์ ซึ่งเบื้องต้นพื้นที่นำร่องทั้ง 3 อำเภอคือ อ.เชียงดาว อ.แม่แจ่ม และอ.สะเมิงได้ร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และผู้นำชุมชนในพื้นที่ เดินหน้ากิจกรรมเชิงรุกตามแผน 20 สัปดาห์ได้จัดทำไว้แล้ว เช่น การจัดอบรมความรู้เรื่องผลกระทบต่อสุขอนามัยของคนในชุมชน ปัญหาดินเสื่อมโทรมที่เกิดจากการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกด้วยวิธีการเผา การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสารชีวภาพ การทำปุ๋ยหมักแบบไม่กลับกอง การทำปุ๋ยหมักแบบอัดก้อนเพื่อลดต้นทุนของเกษตรกร การจัดทำแนวกันไฟ การวางแผนชิงเผาในพื้นที่ที่จำเป็นให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 15 ก.พ.59 การประกวดหมู่บ้านที่สามารถลดจุดความร้อนได้ตามเป้าหมายที่กำหนด, การจ้างอาสาสมัครลาดตระเวนตลอด 24 ชม.ในช่วง 60 วันอันตราย การสนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์ดับไฟ การสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยเคลื่อนที่เร็วในพื้นที่ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวล้วนได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากเครือเจริญโภคภัณฑ์
นอกจากนี้เครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) อำเภอแม่แจ่ม และภาคีเครือข่ายได้ดำเนินโครงการหมู่บ้านต้นแบบ “หมู่บ้านปลอดเผา” ขึ้น โดยนำร่องที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเสริมสร้างความรู้ และตระหนักถึงพิษภัยของปัญหาหมอกควัน โดยการส่งเสริมการสร้างหมู่บ้านนำร่อง “หมู่บ้านปลอดเผา” เพื่อเป็นแบบอย่างในการบริหารจัดการพื้นที่ทางการเกษตร ตามหลักการจัดการวัสดุทางการเกษตรบนพื้นที่สูงชัน โดยวิถีไถพรวน และให้เกษตรกรรู้จักนำเศษวัสดุทางการเกษตรมาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ทางการเกษตร และปศุสัตว์ เช่น การจัดทำปุ๋ยอินทรีย์ หรืออัดแท่งเป็นอาหารสัตว์
“โครงการทุกโครงการที่เรากำลังขับเคลื่อนอยู่ในวันนี้ มองสองเรื่องคือเรื่องป่าและเรื่องปากท้องของคน ในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา เราได้บูรณาการความร่วมมือโดยเฉพาะภาควิชาการ ได้เข้ามาศึกษาเรื่องของพืชทางเลือกตามระดับความสูง ในแม่แจ่มเองหลายพื้นที่มีความสูงเหมาะสมในการปลูกพืชเศรษฐกิจที่เป็นทางออกสามารถสร้างป่าไม้ให้เกิดขึ้นได้และทำให้คนมีรายได้ไม่น้อยไปกว่าการปลูกข้าวโพด พื้นที่ที่อยู่สูงในระดับน้ำทะเล 800-900 เมตร เราจะปลูกกาแฟ ในพื้นที่ที่ลดระดับลงมามีพืชเศรษฐกิจเป็นทางเลือกให้เกษตรกรได้ปลูกอีกหลายชนิด ส่วนที่ระดับต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 500 เมตร จะยังให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดได้ เนื่องจากต้องมีรายได้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ตรงนี้เป็นความท้าทายในการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าและการแก้ไขปัญหาดอยหัวโล้นในพื้นที่ป่าต้นน้ำ”
ด้วยความร่วมมือในการแก้ปัญหาของหลายฝ่าย ส่งผลให้ในปีนี้พื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ แหล่งปลูกข้าวโพดมากที่สุดแห่งหนึ่งของประทศ มีรูปธรรมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าที่ชัดเจนขึ้น ค่าจุดความร้อน (Hotspots) ในช่วง 60 วัน ห้ามเผา (ระหว่าง 15 ก.พ.-15 เม.ย.) ลดลงเหลือเพียง 9 จุด ในขณะที่ช่วงเดียวในปี 2558 เกิดขึ้น 239 จุด
ทั้งนี้ที่ผ่านมาเครือเจริญโภคภัณฑ์ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานการมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยตระหนักถึงหน้าที่ที่ภาคธุรกิจต้องมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ดูแลทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงความห่วงใยต่อสุขภาพอนามัย ซึ่งปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจใน จ.เชียงใหม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี เครือเจริญโภคภัณฑ์จึงได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อใช้ในกิจกรรมตามแผน 20 สัปดาห์และจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ดับไฟป่า เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้น และหวังว่าการมีส่วนร่วมในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะคนทั้งประเทศมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าของประเทศอย่างยั่งยืน ตลอดจนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและผืนป่าที่สำคัญ เพื่อส่งต่อความสมบูรณ์ให้กับลูกหลานต่อไป